เมื่อเอ่ยถึงสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลผู้คนคงนึกถึงปลาเป็นอันดับแรก แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงสัตว์ทะเลที่ใกล้เคียงกับมนุษย์เรามากที่สุดและยังเป็นสัตว์ที่มีพัฒนาการสูงนั่นคือ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ซึ่งมนุษย์เราก็จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นชื่อก็บอกอย่างตรงตัวอยู่แล้วว่ามีพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมของผู้เป็นแม่ หลายคนอาจจะพบเห็นภาพของความอบอุ่นที่ทารกดื่มนมจากอกมารดาผู้ให้กำเนิด แต่คงยากจะนึกภาพออกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใต้ท้องทะเลนั้น จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร จะมีนมให้ลูกกินหรือไม่ และใต้ทะเลนั้นจะให้ลูกกินนมอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิดทีเดียว
ถึงตอนนี้หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่าสัตว์ที่จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใต้ท้องทะเลนั้น มีหน้าตาอย่างไร หรือมีสัตว์อะไรบ้าง ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในท้องทะเลที่น่าจะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั้นก็มีทั้ง โลมาและวาฬ ที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่าปลาโลมาและปลาวาฬ เพราะรูปร่างหน้าตาของทั้งโลมาและวาฬแต่ละชนิดได้พัฒนามาจากบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณเมื่อประมาณ 45 ล้านปีก่อนจำพวก Mesonyx ซึ่งนักวิชาการบอกว่ามีรูปร่างคล้ายกับหมาผสมหนู เมื่อผ่านกาลเวลาเนิ่นนานทั้งโลมาและวาฬก็ผ่านการปรับตัวจนมีวิวัฒนาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลจนมีรูปร่างที่ สามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว และมีรูปร่างหน้าตาเหมือนปลาทั่วไป แต่สำหรับนักชีววิทยาทางทะเลนั้นได้จำแนกทั้งโลมาและวาฬออกจากสัตว์จำพวกปลา เข้ารวมกับกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์
นอกจากจะมีพัฒนาการด้านรูปร่างหน้าตาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องทะเลได้แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังคงหายใจด้วยการใช้ปอดฟอกโลหิต จึงยังต้องมีช่องจมูกที่ใช้หายใจซึ่งเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอยู่บนหัว ตรงช่องที่ใช้พ่นน้ำออกแล้วหายใจเอาอากาศเข้าไป ซึ่งวาฬและโลมารวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆเช่น พะยูน จึงจำเป็นต้องว่ายขึ้นมาหายใจบริเวณผิวน้ำเป็นระยะๆ นอกจากนี้มันยังได้พัฒนาด้วยการเพิ่มชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันการสูญเสียอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย และปรับให้กลไกของร่างกายมีการเผาผลาญต่ำ จึงทำให้สามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลายาวนาน เช่น วาฬหัวทุย สามารถดำน้ำได้ลึกราว 3,000 เมตรเลยทีเดียว
โลมาและวาฬจะออกลูกเป็นตัวเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป โดยลูกที่เกิดมาจะมีขนาดใหญ่ราว 40% ของพ่อแม่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายและสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมของท้องทะเล เมื่อคลอดออกมาก็จะสามารถว่ายน้ำได้ทันที โดยแม่จะเป็นผู้คอยดูแลเอาหัวดุนให้ลูกขึ้นไปหายใจบนผิวน้ำ และจะว่ายเวียนดูแลเลี้ยงลูกเป็นเวลานานจนกว่าลูกจะหย่านม ซึ่งในวาฬบางชนิดใช้เวลาเลี้ยงดูลูกเป็นเวลานานถึง 2 ปี แม่โลมาและวาฬจะให้นมลูกโดยหัวนมที่อยู่บริเวณใต้ท้อง ซึ่งจะซ่อนอยู่สองข้างใกล้กับช่องเพศซึ่งมีกล้ามเนื้อยึดรอบสำหรับบีบตัวให้หัวนมโผล่ออกมาเมื่อลูกต้องการ และดึงกลับไปซ่อนในตัวเมื่อให้นมลูกเสร็จ
นอกจากโลมาและวาฬจะต้องเลี้ยงดูทะนุถนอมลูกน้อยเช่นเดียวกับมนุษย์แล้ว มันยังเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้กริยาท่าทางและเสียง โดยโลมาและวาฬในกลุ่มที่มีฟันนั้น สามารถส่งสัญญาณเสียงออกไปแล้วรับการสะท้อนกลับมาแปลเป็นสัญญาณเข้าสู่สมอง ส่วนในกลุ่มที่ไม่มีฟันจะใช้สัญญาณเสียงอีกลักษณะหนึ่งที่มีความถี่ต่ำ ซึ่งสัญญาณเสียงนี้อาจดังไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตรเลยทีเดียว
สัญญาณเสียงที่โลมาส่งออกมานั้น นักวิทยาศาสตร์บางท่านศึกษาว่ามันสามารถจะส่งสัญญาณเสียงแล้วสะท้อนกลับมาแปรเป็นภาพได้ราวการการทำอัลตราซาวด์ สามารถจะเห็นภาพโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ที่ว่ายน้ำอยู่ ถึงขนาดที่มันสามารถจะรู้ได้ว่าผู้หญิงคนนี้กำลังอุ้มท้องมีชีวิตเล็กๆ อยู่ในท้องด้วย แหล่งข้อมูลทางวิชาการไม่ได้บอกว่ามันบอกได้ถึงขนาดว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายด้วยหรือเปล่า
อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อในทฤษฎีโลมาบำบัด โดยการให้เด็กป่วยและเด็กพิการลงไปว่ายน้ำเล่นกับโลมา ซึ่งโลมาจะเข้ามาคลอเคลียและสามารถจะกระตุ้นให้เด็กๆ เหล่านั้นเกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางที่ดีขึ้น ร่าเริงขึ้น และทุเลาจากการการเจ็บป่วย เพราะโลมานั้นนับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีมันสมองเฉลียวฉลาด และคงจะรับรู้ได้ดีว่ามนุษย์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อมัน จึงเข้ามาให้เด็กๆ ลูบหัว หรือขึ้นมาชูคอยิ้มอย่างเป็นมิตร
จากรายงานของทีมงานนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเลจังหวัดภูเก็ตพบว่า ในน่านน้ำทะเลไทยนั้นมีรายงานการพบโลมาและวาฬจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 19 ชนิด คือ วาฬฟิน วาฬบรูด้า วาฬหัวทุย วารฬหัวทุยเล็ก วาฬหัวทุยแคระ วาฬฟันเขี้ยว วาฬเพชฌฆาต วาฬเพชฌฆาตดำ วาฬนำร่องครีบสั้น วาฬหัวแตงโม โลมาเผือกหรือโลมาหลังโหนก โลมาปากขวด โลมาฟันห่าง โลมาปากยาว โลมากระโดด โลมาแถบ โลมาลายจุด โลมาหัวบาตรหรือโลมาอิระวดี และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น