วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โลมาและวาฬ

เมื่อเอ่ยถึงสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลผู้คนคงนึกถึงปลาเป็นอันดับแรก แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงสัตว์ทะเลที่ใกล้เคียงกับมนุษย์เรามากที่สุดและยังเป็นสัตว์ที่มีพัฒนาการสูงนั่นคือ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ซึ่งมนุษย์เราก็จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นชื่อก็บอกอย่างตรงตัวอยู่แล้วว่ามีพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมของผู้เป็นแม่ หลายคนอาจจะพบเห็นภาพของความอบอุ่นที่ทารกดื่มนมจากอกมารดาผู้ให้กำเนิด แต่คงยากจะนึกภาพออกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใต้ท้องทะเลนั้น จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร จะมีนมให้ลูกกินหรือไม่ และใต้ทะเลนั้นจะให้ลูกกินนมอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิดทีเดียว

ถึงตอนนี้หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่าสัตว์ที่จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใต้ท้องทะเลนั้น มีหน้าตาอย่างไร หรือมีสัตว์อะไรบ้าง ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในท้องทะเลที่น่าจะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั้นก็มีทั้ง โลมาและวาฬ ที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่าปลาโลมาและปลาวาฬ เพราะรูปร่างหน้าตาของทั้งโลมาและวาฬแต่ละชนิดได้พัฒนามาจากบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณเมื่อประมาณ 45 ล้านปีก่อนจำพวก Mesonyx ซึ่งนักวิชาการบอกว่ามีรูปร่างคล้ายกับหมาผสมหนู เมื่อผ่านกาลเวลาเนิ่นนานทั้งโลมาและวาฬก็ผ่านการปรับตัวจนมีวิวัฒนาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลจนมีรูปร่างที่ สามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว และมีรูปร่างหน้าตาเหมือนปลาทั่วไป แต่สำหรับนักชีววิทยาทางทะเลนั้นได้จำแนกทั้งโลมาและวาฬออกจากสัตว์จำพวกปลา เข้ารวมกับกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์



นอกจากจะมีพัฒนาการด้านรูปร่างหน้าตาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องทะเลได้แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังคงหายใจด้วยการใช้ปอดฟอกโลหิต จึงยังต้องมีช่องจมูกที่ใช้หายใจซึ่งเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอยู่บนหัว ตรงช่องที่ใช้พ่นน้ำออกแล้วหายใจเอาอากาศเข้าไป ซึ่งวาฬและโลมารวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆเช่น พะยูน จึงจำเป็นต้องว่ายขึ้นมาหายใจบริเวณผิวน้ำเป็นระยะๆ นอกจากนี้มันยังได้พัฒนาด้วยการเพิ่มชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันการสูญเสียอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย และปรับให้กลไกของร่างกายมีการเผาผลาญต่ำ จึงทำให้สามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลายาวนาน เช่น วาฬหัวทุย สามารถดำน้ำได้ลึกราว 3,000 เมตรเลยทีเดียว


โลมาและวาฬจะออกลูกเป็นตัวเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป โดยลูกที่เกิดมาจะมีขนาดใหญ่ราว 40% ของพ่อแม่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายและสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมของท้องทะเล เมื่อคลอดออกมาก็จะสามารถว่ายน้ำได้ทันที โดยแม่จะเป็นผู้คอยดูแลเอาหัวดุนให้ลูกขึ้นไปหายใจบนผิวน้ำ และจะว่ายเวียนดูแลเลี้ยงลูกเป็นเวลานานจนกว่าลูกจะหย่านม ซึ่งในวาฬบางชนิดใช้เวลาเลี้ยงดูลูกเป็นเวลานานถึง 2 ปี แม่โลมาและวาฬจะให้นมลูกโดยหัวนมที่อยู่บริเวณใต้ท้อง ซึ่งจะซ่อนอยู่สองข้างใกล้กับช่องเพศซึ่งมีกล้ามเนื้อยึดรอบสำหรับบีบตัวให้หัวนมโผล่ออกมาเมื่อลูกต้องการ และดึงกลับไปซ่อนในตัวเมื่อให้นมลูกเสร็จ 


นอกจากโลมาและวาฬจะต้องเลี้ยงดูทะนุถนอมลูกน้อยเช่นเดียวกับมนุษย์แล้ว มันยังเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้กริยาท่าทางและเสียง โดยโลมาและวาฬในกลุ่มที่มีฟันนั้น สามารถส่งสัญญาณเสียงออกไปแล้วรับการสะท้อนกลับมาแปลเป็นสัญญาณเข้าสู่สมอง ส่วนในกลุ่มที่ไม่มีฟันจะใช้สัญญาณเสียงอีกลักษณะหนึ่งที่มีความถี่ต่ำ ซึ่งสัญญาณเสียงนี้อาจดังไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตรเลยทีเดียว


สัญญาณเสียงที่โลมาส่งออกมานั้น นักวิทยาศาสตร์บางท่านศึกษาว่ามันสามารถจะส่งสัญญาณเสียงแล้วสะท้อนกลับมาแปรเป็นภาพได้ราวการการทำอัลตราซาวด์ สามารถจะเห็นภาพโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ที่ว่ายน้ำอยู่ ถึงขนาดที่มันสามารถจะรู้ได้ว่าผู้หญิงคนนี้กำลังอุ้มท้องมีชีวิตเล็กๆ อยู่ในท้องด้วย แหล่งข้อมูลทางวิชาการไม่ได้บอกว่ามันบอกได้ถึงขนาดว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายด้วยหรือเปล่า
อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อในทฤษฎีโลมาบำบัด โดยการให้เด็กป่วยและเด็กพิการลงไปว่ายน้ำเล่นกับโลมา ซึ่งโลมาจะเข้ามาคลอเคลียและสามารถจะกระตุ้นให้เด็กๆ เหล่านั้นเกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางที่ดีขึ้น ร่าเริงขึ้น และทุเลาจากการการเจ็บป่วย เพราะโลมานั้นนับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีมันสมองเฉลียวฉลาด และคงจะรับรู้ได้ดีว่ามนุษย์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อมัน จึงเข้ามาให้เด็กๆ ลูบหัว หรือขึ้นมาชูคอยิ้มอย่างเป็นมิตร


จากรายงานของทีมงานนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเลจังหวัดภูเก็ตพบว่า ในน่านน้ำทะเลไทยนั้นมีรายงานการพบโลมาและวาฬจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 19 ชนิด คือ วาฬฟิน วาฬบรูด้า วาฬหัวทุย วารฬหัวทุยเล็ก วาฬหัวทุยแคระ วาฬฟันเขี้ยว วาฬเพชฌฆาต วาฬเพชฌฆาตดำ วาฬนำร่องครีบสั้น วาฬหัวแตงโม โลมาเผือกหรือโลมาหลังโหนก โลมาปากขวด โลมาฟันห่าง โลมาปากยาว โลมากระโดด โลมาแถบ โลมาลายจุด โลมาหัวบาตรหรือโลมาอิระวดี และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ



โลมาสีชมพู

โลมาสีชมพู ชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า โลมาหลังโหนก และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sousa chinensis


ลักษณะทั่วไป
โลมาสีชมพูมีขนาดประมาณ  2.2-2.8 เมตร ตัวเมียจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย หนักประมาณ 150-230 กิโลกรัม ตัวอ่อนมีขนาดตัวประมาณ 1 เมตร อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี มีสีที่หลากหลายขึ้นอยู่กับอายุหรือ ฝูง  ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสีเทาขาว  สีดำ และสีชมพู ตัวอ่อนจะมีสีเข้มกว่าตัวเต็มวัย ยิ่งแก่เท่าไหร่สีผิวจะยิ่งเป็นสีชมพูมากขึ้น บริเวณผิวด้านล่างจะเป็นจุดๆ และมีสีที่สว่างกว่าด้านบน เมื่อแรกเกิดจะมีสีดำ วัยเด็ก จะมีสีเทา วัยรุ่นเริ่มจะมีจุดสีเทาปนชมพูเกิดขึ้น วัยผู้ใหญ่จะเป็นสีขาวออกชมพูและจุดสีเทาชมพูจะหายไป


สีชมพูมาจากไหน
โลมาสีชมพูยิ่งมีอายุมากจะมีสีสว่างขึ้นจนถึงเป็นสีชมพู สีชมพูนี้ไม่ได้มาจากเซลเม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป 
พฤติกรรมโดยทั่วไป ชอบอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร บริเวณที่โลมาอาศัยอยู่มักจะพบว่า ชายฝั่งทะเลนั้นจะมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอ แต่จะต้องอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น โลมาสายพันธุ์นี้ชอบอาศัยประจำที่หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมากและอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้โดยง่าย โดยมักจะพบเห็นตั้งแต่ตอนเช้า จะอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนจะโผล่ขึ้นมาหายใจ บางครั้งมีพฤติกรรมดุร้ายโดยเฉพาะเมื่อมีผู้ล่าเข้ามา


อาหารของโลมาสีชมพู
โลมาสีชมพูชอบกิน ปลาเล็ก ปลาหมึก และสัตว์พวกกุ้ง เคย ปู เป็นต้น  เมื่อออกหาอาหาร จะใช้สัญญาณเอคโค และออกล่าเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่รวมกลุ่ม แต่โลมาสีชมพูก็จะดุร้ายได้เหมือนกัน และจะต้องการแยกตัวเองออกไปพอสมควรจากตัวอื่นเมื่อต้องการหาอาหาร หรือต้องกินอาหาร



ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโลมา

โลมา ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหมือนกับคน ลิง หมา แมว หมี หรือหนู แต่โลมามีวิวัฒนาการให้อาศัยอยู่ในน้ำ เหมือนกับ วาฬ” โลมามีการปรับตัว โดยการพัฒนารูปร่างและอวัยวะต่างๆ  ให้เหมาะกับการดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ
รูปร่าง 
โลมามีรูปร่างเพรียวเหมือนหัวจรวด ผิวหนังเรียบ ไม่มีขน และมีหางขนาดใหญ่ ช่วยให้ว่ายน้ำได้รวดเร็ว
ระบบหายใจ 
โลมาเปลี่ยนช่องทางการหายใจ หรือ ย่อจมูกมาอยู่ด้านบนของหัว เพื่อให้สะดวกในการหายใจเมื่อโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ และให้ท่อหายใจหรือหลอดลมอยู่แยกกับช่องปาก เพื่อให้โลมากินอาหารใต้น้ำได้
ปอดมีขนาดเล็กกว่าคน แต่สามารถใช้ออกซิเจนในอากาศได้มากกว่า โลมาจึงสามารถอยู่ในน้ำได้นานกว่าคน และดำน้ำได้ลึกกว่าคน
ผิวหนัง 
มีชั้นไขมันมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการช่วยลดอัตราการหายใจให้น้อยลง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โลมาดำน้ำได้นาน
สายตา 
โลมามีสายตาที่ดีสามารถมองเห็นได้ดีทั้งบนบกและในน้ำ



วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โลมาแสนฉลาด

ว่ากันว่า โลมานั้นฉลาดไม่แพ้เด็กตัวเล็กๆ เลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะโลมามีขนาดสมอง เมื่อเทียบกับลำตัวขนาดใหญ่มาก แถมภายในสมองยังซับซ้อนอีกด้วย โลมาปากขวดนั้นถึงกับมีขนาดของสมอง เทียบกับลำตัวใหญ่เป็นที่สองรองจากมนุษย์ และ สมองส่วนซีรีบรัม อันเป็นส่วนของความจำ และการเรียนรู้ ก็มีขนาดใหญ่มาก เป็นศูนย์รวมของการรับกลิ่น การมองเห็น และการได้ยิน จนทำให้ นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง กล่าวว่า ไม่แน่นักว่าโลมาอาจจะฉลาดเท่ากับมนุษย์ก็เป็นได้ โลมาผู้ช่วยชีวิต เรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาโลมาช่วยชีวิตคนนั้นมีอยู่บ่อยครั้ง แต่จริงๆแล้ว เป็นเพราะปลาโลมาต้องการช่วยชีวิตคนจริงๆ หรือ เชื่อว่าจริงๆ แล้ว ปลาโลมานั้นเป็นปลาที่อ่อนโยน รักสนุก และขี้เล่น ที่มันช่วยคนอาจเป็นเพราะมันต้องการเข้ามาเล่นสนุกๆ เท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็น สัญชาตญาณของแม่ปลาที่มักจะดุนลูกขึ้นไปหายใจบนผิวน้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าลูกปลาเสียชีวิต ระหว่างคลอด จะพบว่าแม่ปลาจะพยายามดุนศพลูกเอาไว้ให้ใกล้ผิวน้ำมากที่สุด ภัยร้ายของโลมา ในประเทศไทย โลมาที่ติดอวนมาแล้ว จะถูกชำแหละเนื้อขายด้วยราคาถูกๆ เนื่องจากเนื้อปลาโลมามีความคาวมาก จึงไม่มีผู้นิยมบริโภคเท่าใดนัก ในประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมเคยเป็นประเทศที่ล่าปลาวาฬมากที่สุดในโลก จนกระทั่งปลาวาฬใกล้สูญพันธ์ จึงถูกสั่งห้ามล่าปลาวาฬ หันมาล่าปลาโลมาแทน โดยเพิ่มปริมาณการล่าโลมาขึ้นเป็นสี่เท่า ทำให้โลมาในทะเลญี่ปุ่นลดน้อยลงเป็นอันมาก


รูปร่างของโลมา

โลมา อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในมหาสมุทรนับร้อยชนิด แต่ในประเทศไทยที่เรารู้จักกันดีมีอยู่ 2 ชนิด คือ โลมาปากขวด กับ โลมาหัวบาตร บางครั้งยังพบโลมาอยู่ในแม่น้ำอีกด้วย เช่น ในแม่น้ำคงคาที่ประเทศอินเดีย และในแม่น้ำโขง เป็นโลมาหัวบาตรน้ำจืด โลมา มีอวัยวะต่างๆทุกๆ ส่วนเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป หากแต่ละส่วนของอวัยวะ จะปรับเปลี่ยนต่างไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ดังนี้ จมูก โลมามีจมูกไว้หายใจ แต่จมูกนั้นต่างไปจากจมูกของสัตว์ อื่นๆ เพราะตั้งอยู่กลางกระหม่อมเลยทีเดียว เพื่อให้สะดวกต่อการเชิดหัวขึ้นหายใจเหนือน้ำ จากจมูกมีท่อหายใจต่อลงมาถึงปอดในตัว จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำผ่านเหงือกเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจเหมือนปลาทั่วไป หู หูของโลมานั้นเป็นเพียงแค่รูเล็กจิ๋วติดอยูด้านข้างของหัวเท่านั้น แต่หูของโลมามีประสิทธิภาพสูงมาก รับคลื่นเสียงใต้น้ำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะกับภาษาที่โลมาสื่อสารกันด้วยเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง การมองเห็น โลมามีดวงตาแจ่มใส เหมือนตาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีเปลือกตาปิดได้ และในเวลา กลางคืนตาก็จะเป็นประกาย เหมือนตาแมว ตาของโลมาไม่มีเมือกหุ้มเหมือนตาปลา และมองเห็นได้ไกลถึง 50 ฟุต เมื่ออยู่ในอากาศ สีผิว สีผิวของโลมาแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ส่วนมากจะออกไปในโทนสีเทา ตั้งแต่เข้มเกือบดำ จนกระทั่งถึงเกือบขาว แต่โดยทั่วไปปลาโลมาจะมีสีผิวแบบทูโทนคัลเลอร์ คือมีสองสีตัดกัน ด้านบน เป็นสีเทาเข็ม ด้านล่างเป็นสีเกือบขาว เพื่อพรางตัวในทะเล ไม่ให้ศัตรูเห็น เพราะเมื่อมองจากด้านบน สีเข็มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไป สีขาวก็จะกลืนเข้ากับแสงแดดเหนือผิวน้ำ


วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โลมา

โลมา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำและมีสติปัญญาสูงชนิดหนึ่ง มีเชื้อสายใกล้เคียงกับ วาฬ ในภาษาอังกฤษเรียกโลมาว่า Dolphin มาจากภาษากรีกโบราณ δελφίς เดลฟิส (delphis) ตำนานกรีก เล่าว่า เทพแห่งไวน์ของกรีก ชื่อ ไดโอนีซอส (Dionysos) แปลงลงมาเป็นมนุษย์ และได้โดยสารเรือข้ามจากเกาะอิคาเรีย (Ikaria) ไปยังเกาะนาซอสในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไดโอนีซอสนั้นแม้จะเป็นเทพ ทว่าไม่มีญาณหยั่งรู้ว่าเรือลำที่ตนโดยสารไปนั้นเป็นเรือโจร ลูกเรือจะปล้นผู้โดยสารทุกคนถ้วนหน้า เมื่อถึงคราวของไดโอนีซอส เขาจึงถูกลูกเรือปล้น และคิดจะจับเขาไปขายเป็นทาส ด้วยเหตุนี้ เขาจึงจำต้องแสดงตนว่าเป็นเทพ และสาปให้เรือมีเถาองุ่นขึ้นเต็ม มีเสียงขลุ่ยดังขึ้น พวกลูกเรือตกใจ จึงกระโดดน้ำหนีไปหมด และได้กลายร่างเป็นปลาโลมา มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อกลายเป็นปลาโลมา นิสัยของลูกเรือก็เปลี่ยนไปด้วย กลายเป็นสัตว์ที่ใจดี มีเมตตา แถมยังช่วยเทพแห่งสมุทร คือ โพซิดอนหาเจ้าสาวอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ปลาโลมาจึงได้รับเกียรติจากโพซิดอน ตั้งชื่อ กลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งว่า กลุ่มดาวโลมาอีกด้วย ที่จริงแล้วโลมาเคยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนบกเหมือนมนุษย์ แต่เพื่อความพยายามหาอาหาร เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และหนีศัตรู โลมาจึงค่อยๆปรับตัวให้ลงไปอยู่ในน้ำ เพื่อความอยู่รอดแทน นั่นเป็นตำนานของคนโบราณ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลมาเป็นสัตว์เลือดอุ่นอาศัยอยู่ในน้ำ คลอดลูก เป็นตัว แถมยังเลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนมนุษย์